8 วิธีดูหินสีปลอม
เป็นปัญหาหนักอกหนักใจสำหรับ “คนรักหิน” ในการเลือกซื้อหินแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องเลือกชนิดของหินให้ส่งเสริมดวงชะตาของตนเองแล้ว (อ่านบทความเพิ่มเติม “หินมงคลประจำวันเกิด” หรือ “หินสีที่เหมาะกับอาชีพ”) ยังต้องพิจารณาดูตัวหินว่าเป็นหินสีปลอม หรือเป็นหินสีที่ย้อมมาหรือเปล่า
เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า หินสีปลอมสมัยนี้ทำได้เหมือนของจริงมาก ๆ ค่ะ หินสีที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ มีทั้งหินสีที่มาจากธรรมชาติที่เป็นของจริง ซึ่งเป็นหินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้น และมีหินสีปลอมที่ทำจากแก้ว เรซิ่น และพลาสติก เป็นต้น
แต่ปัญหากวนใจเหล่านี้จะหมดไปจาก “คนรักหิน” ทุกคน เพราะว่า วันนี้เรามี “8 วิธีดูหินสีปลอม” เราจะมาเรียนรู้กันว่าหินสีจริงหรือปลอมดีกันอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีสังเกตและตรวจสอบเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ
1. ใช้กล้องเลนส์ขยาย
กล้องเลนส์ขยาย หรือ “ลูปส่องพระ” ที่เรามักจะเห็นบรรดาเซียนพระเขาใช้กัน ซึ่งมันมีขนาดกำลังขยาย 10 เท่าส่องเข้าไปที่เม็ดหิน หากเป็นหินสีปลอมที่ทำขึ้นจากแก้วหรือเรซิ่น ภายในจะเต็มไปด้วยฟองอากาศขนาดเล็กเต็มไปหมด ซึ่งเป็นฟองอากาศที่เกิดจากกระบวนการหล่อของโรงงาน ที่สามารถใช้ยืนยันได้ทันทีว่าหินสีนี้เป็นของปลอม
2. ใช้แสงแดด
ให้นำหินสีไปตากแดดไว้ซักครู่แล้วนำมาสัมผัส หรือนำมาอังไว้ที่แก้มของเรา หินสีธรรมชาตินั้นจะยังคงรักษาความเย็นอยู่ ในขณะที่แก้วหรือเรซิ่นจะมีความร้อนสะสม เพราะมันเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับความร้อน และสะสมเอาไว้ เวลาอังไว้ที่แก้มจึงรู้สึกร้อน
3. การไหลของเนื้อหิน
ให้สังเกตดูเส้นไหลในตัวเนื้อหินให้ดี ๆ หินสีปลอมที่ผลิตมาจากพลาสติกหรือแก้วนั้น จะมีเส้นไหลเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นลายน้ำเชื่อมที่เกิดจากกระบวนการหลอมของพลาสติก หรือแก้ว ซึ่งเราจะไม่สามารถที่จะพบได้ในหินสีแท้จากธรรมชาติ
4. แนวเชื่อม Parting line
สังเกตว่ามีแนวเชื่อม (Parting line) ถ้าหากเราพบว่ามีแนวเชื่อมเกิดขึ้นบนเม็ดหิน ก็แสดงว่าเป็นหินปลอมที่เกิดจากกระบวนการหล่อ และแม่พิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ (แต่ข้อนี้ถ้าเจอของปลอมเกรด A ก็สังเกตได้ยากจริง ๆ ค่ะ)
5. ตำหนิบนตัวหิน
หากเม็ดหินสีมีลวดลายหรือตำหนิบนหินที่มีลักษณะเหมือน ๆ กัน หรือตรงกันทุกจุด ให้เราสันนิษฐานได้เลยทันทีว่าเป็นการผลิตที่มาจากโรงงาน เพราะลักษณะของหินในธรรมชาตินั้น แทบจะไม่มีก้อนไหนเลยที่มีลักษณะเหมือนกันเพราะเป็นของธรรมชาติ
6. ราคา
ส่วนเรื่องของราคานั้น เรามิอาจนำมาใช้เป็นตัววัดเปรียบเทียบว่าหินสีเม็ดนั้นเป็นของจริง หรือปลอมได้ เนื่องจากราคาในการซื้อขายนั้นเกิดจากความพึงพอใจกันระหว่างคนขายกับคนซื้อ บวกกับความน่าเชื่อถือของร้านค้าอีกด้วย ดังนั้นที่ซื้อมาในราคาสูงก็ใช่ว่าจะเป็นตัวรับประกันว่าเป็นหินสีแท้
7. น้ำหนัก
น้ำหนักของหิน ก็อีกด้วยเช่นกัน มันไม่สามารถใช้การันตีในการเปรียบเทียบว่าเป็นหินแท้ได้ เพราะมีแก้วบางชนิดมีน้ำหนักใกล้เคียงกับหินสีของแท้มาก ๆ เลยค่ะ โดยบางทีสวยงามกว่าของธรรมชาติเสียอีก
8. การเผา
การนำไปเผาไฟ เป็นวิธีสุดท้ายที่ง่ายที่สุด สำหรับการแยกหินสีธรรมชาติแท้กับพลาสติก แต่ก็เป็นเรื่องยากที่สุดที่จะทำ เนื่องจากว่าคงไม่มีผู้ค้าหินคนไหนยินยอมให้นำหินไปเผาไฟกันง่าย ๆ การนำหินสีมาเผานอกจากจะเป็นการตรวจสอบหินสีแล้ว มันยังเป็นกระบวนการหนึ่งในการปรับปรุงคุณภาพของพลอยให้มีสีสันที่สวยงามมากขึ้นอีกด้วย
ทั้ง 8 ข้อนี้เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นในการพิสูจน์ความแท้ของหินสี ซึ่งเรายังมีอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบอัญมณี รวมถึงหินสี ที่ได้มาตรฐานสากลและนิยมใช้ในห้องปฏิบัติการอัญมณีศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยกระทำกันเฉพาะในห้องปฎิบัติการ (Lab) เท่านั้น
การตรวจสอบอัญมณี หรือหินสีเพื่อขอรับใบประกาศยืนยันคุณภาพทางวิทยาศาสตร์มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การตรวจโครงสร้างภายในและภายนอกของเม็ดหิน ว่าตรงตามมาตรฐานไหม โดยเริ่มตั้งแต่การดูรูปทรง ดูรอยสึกหรอ ดูสีสัน ดูมลทิน ชั่งน้ำหนัก วัดความแข็ง วัดขนาดโดยละเอียด
หลังจากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องมือต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง เพื่อตรวจวัดค่าดัชนีหักเห ความถ่วงจำเพาะ การเรืองแสงกับหลอดยูวี (UV light) การเปล่งแสงของอัญมณี และตรวจดูสเปกตรัม แล้วนำมาเทียบกับค่ามาตรฐาน
ซึ่งในประเทศไทย เรามีห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบหินและอัญมณีที่ได้มาตรฐานสากล ตามสถาบันวิจัย และในสถานศึกษาดังนี้
1. สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
2. ห้องปฏิบัติการของคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
3. ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. ห้องปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
6. ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์
8. ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยการตรวจสอบหินสี หรืออัญมณีในห้องแล็บแต่ละครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจประมาณ 2,000 บาท ซึ่งดูจะไม่เหมาะกับหินสีที่มีราคาอยู่ในประมาณหลักพันบาท แต่ถ้าเป็นหลักหมื่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าลงทุนอยู่ไม่น้อยในการตรวจสอบ
เอาล่ะค่ะ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว คิดว่า “คนรักหิน” ทุกคนคงจะคลายกังวลใจในการเลือกหาซื้อหินสีสวย ๆ มาไว้ในครอบครองกันแล้วนะคะ เพราะว่าเราได้ทราบวิธีการตรวจสอบหินเบื้องต้นด้วยตนเองกันแล้ว ขอทุกคนให้ได้พบกับหินสวย ๆ ที่ถูกใจนะคะ
“ ไม่ใช่แค่คุณที่เลือกหิน หินก็เลือกคุณเช่นกัน”
ผู้คิดค้น วิชาหินเดินดาว Modern Astral Crystals ศาสตร์พยากรณ์ 12 พลังหิน
สมาคมโหรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
Facebook: หินเดินดาว, ณิชารัศมิ์โหราศาสตร์