มาลาไคท์ (Malachite) หินเจรจาการค้า
มาลาไคท์ (Malachite) เป็นหินพลอยสีเขียวอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้จะมีความแวววาวน้อยกว่าหินพลอยชนิดอื่น ๆ แต่ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ก็ยังคงเสน่ห์แก่ผู้พบเห็นยังไม่ลืมเลือน
มาลาไคท์ (Malachite) เป็นหินที่มีลักณะเป็นสีเขียวทึบแสง มีริ้วสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้มอยู่เรียงสลับกันป็นชั้น ๆ ชาวญี่ปุ่นเรียกหินชนิดนี้กันว่า ‘หินนกยูง’ ถึงแม้มาลาไคท์จะมีความแวววาวจะสู้หินพลอยชนิดอื่น ๆ ไม่ได้ แต่ด้วยลักษณะสีสันเป็นชั้น ๆ ที่แตกต่างก็ทำให้มาลาไคท์ (Malachite) มีเสน่ห์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร จึงทำให้เป็นหินอีกชนิดหนึ่งที่ครองใจคนรักหินอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
คำว่า “มาลาไคท์” (Malachite) ที่มาของคำนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก บ้างก็ว่ามาจากภาษากรีกที่หมายถึง “สีเขียว” ของพันธุ์ไม้มอลโล (Mallows) หรืออาจจะได้มาจากอีกคำหนึ่งในภาษากรีก ที่หมายความว่า “อ่อน” ด้วยเหตุที่ว่าตัวมาลาไคท์เองมีทั้งสีเขียว และเนื้อที่อ่อน
ตำนาน
ตามตำนานในสมัยโบราณมาลาไคท์เป็นหินยอดนิยมอันหนึ่งสําหรับพกพาเวลาเดินทางนํ้าในการเดินเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักสํารวจและนักผจญภัยต่าง ๆ มักจะตัดมาลาไคท์เป็นก้อนสามเหลี่ยมพกกับตัว โดยเชื่อว่าจะป้องกันภัยจาก “ดวงตาปีศาจ” และให้ราชินีแห่งสวรรค์ที่มีชื่อว่า “จูโน” หรือ “เฮรา” (Juno หรือ Hera) เป็นผู้คุ้มครองในการเดินทาง นอกจากนั้นยังใช้ในการบูชา “เทพธิดาวีนัส” หรือ “แอโฟรไดท์” (Venus or Aphrodite) เพื่ออธิษฐานขอความรักแท้ได้อีกด้วย
และมีความเชื่อมาแต่สมัยโบราณว่า “พระนางคลีโอพัตรา” ทรงใช้หินมาลาไคท์เป็นเครื่องสําอางประทินโฉมเสริมแต่งความงามของพระองค์ โดยการนำมาบดเป็นผงสีเพื่อทำเป็นอายชาโดว์ (Eye Shadow) เมื่อถูหินแล้ว จะเกิดเป็นเฉดลาย ทางสีเขียวเข้มและสีเขียวอ่อนให้มีคล้ายกับปีกของนกยูง
ในประเทศอียิปต์ได้มีการขุดค้นพบถ้วยดินเผาเล็ก ๆ ที่มีมาลาไคท์ป่นเป็นผงบรรจุวางอยู่ไกล้ ๆ กับมัมมี่ แม้แต่เรื่องเล่าของคนชาวยิวก็ยังเรื่องเล่าว่า “พระเจ้าโซโลมอน ก็มีเหมืองมาลาไคท์ขนาดใหญ่ซึ่งทําให้เกิดการค้นพบแร่ทองแดง อันส่งผลให้ชนชาวยิวในขณะนั้นรํ่ารวยกันเป็นอันมาก เพราะมีการนําแร่ทองแดงไปสร้างอาวุธ และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันในยุคนั้นเป็นอันมาก”
ลักษณะทางกายภาพ
มาลาไคท์ (Malachite) ที่ผ่านการเจียระไนแล้ว จะมีลวดลาย เป็นวงซ้อน ๆ กัน มีสีเขียวอ่อน ซ้อนสลับชั้นไปกับสีเขียวแก่ ดูคล้ายกับลวดลายบนเปลือกหอย เพราะมีลักษณะการเกิดมีโครงสร้างคล้ายกับการเกิดของเปลือกหอย
มาลาไคท์ (Malachite) มีโทนสีเดียว ถ้าเป็นก้อนขนาดใหญ่จะหาได้ยาก บางครั้งอาจเกิดปะปนกับ อะซูไรท์ซึ่งจะเรียกว่า “อะเซอร์มาลาไคท์” และที่เรียกว่า “หินไอเลท” จะหมายถึงมาลาไคท์ ที่มี”เทอร์ควอยซ์” และ”คริโซโคลลา” ปะปนอยู่
ส่วนที่เรียกว่า “มาลาไคท์ แอกกรีเกรท” นั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผลึกเล็ก ๆ เข้าด้วยกัน ส่วนที่มีผลึกขนาดใหญ่นั้นหาได้ยาก และเป็นที่ต้องการของเหล่านักสะสมพลอย ตามปกติจะเกิดเป็นก้อนกลม ๆ บวม ๆ ปูด ๆ คล้ายพวงองุ่น หรือเป็นลักษณะหินย้อย
มาลาไคท์ (Malachite) เป็นสารประกอบประเภท “เบสิค คอปเปอร์ คาร์โบเนต” คือเกิดขึ้นจากสารละลายที่มีอยู่ในแร่ทองแดง ซึ่งหมายความว่าถ้าเราพบสายแร่ทองแดงได้ที่ไหน ก็อาจจะมีการพบมาลาไคท์ในแผ่นชั้นหินปูนได้ที่นั่นเช่นกัน
โดยธรรมชาติแล้วมาลาไคท์จะมีลักษณะทึบแสง ที่เจียระไนแล้วจะมีความวาวแบบเส้นไหม ไวต่อความร้อนกรดแอมโมเนีย และน้ำที่มีอุณหภูมิสูง
เนื่องด้วยแร่มาลาไคท์ (Malachite) คือทองแดงคาร์บอเนตสีเขียว หรือ คอปเปอร์คาร์บอเนต จึงมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์เป็น รูปผลึกระบบโมโนคลีนิก ปกติมีลักษณะเรียวยาวคล้ายรูปเข็ม แต่มักจะพบไม่ชัด อาจพบเกิดแทนที่แร่อะซูไรท์ แต่ยังคงรูปผลึกภายนอกของอะซูไรท์ไว้ให้เห็น (Pseudomorphous after azurite) ซึ่งมีเนื้อในเป็นเส้นกระจาย ในรูปรัศมี อาจเกิดเป็นแบบมวลเมล็ด หรือแบบลักษณะคล้ายดิน (Earthy) ก็ได้ มีรอยแยกแนวเรียบสมบูรณ์
ความวาวในเนื้อผลึกคล้ายเพชร ไปจนกระทั่งคล้ายแก้ว ถ้าเป็นลักษณะคล้ายดินจะมีเนื้อด้าน ๆ (dull) มีสีเขียว เนื้อแร่โปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใส
คุณสมบัติทางเคมี
สูตรเคมี CuCO3(HO)2
มีส่วนประกอบที่สำคัญ
CuO 7 1.9%
CO2 19.9%
H2O 8.2%
มีธาตุทองแดง 57.4%
ความแข็ง 3.5 – 4 โมห์สเกล
ความถ่วงจำเพาะ 3.9 – 4.03
ลักษณะเด่นทางกายภาพ
ให้เราสังเกตสีเขียวที่มีลักษณะคล้ายพวงองุ่น สามารถละลายได้ในกรดเกลือ และต่างกับทองแดงสีเขียวชนิดอื่นตรงที่ เมื่อเราหยดกรดลงไปแล้วจะเกิดมีฟองฟู่ แล้วจะมีสารละลายออกมาเป็นสีเขียว
ความเชื่อ และคุณสมบัติ
เชื่อกันว่า มาลาไคท์ (Malachite) ช่วยลดความรู้สึกที่เจ็บปวดที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ และช่วยกำจัดการผูกมัดที่ไม่ต้องการให้ออกจากจิตใจ ปลดปล่อยรูปแบบชีวิตแบบเดิม ๆ ให้ไปสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ทําให้ชีวิตแจ่มใส สดใสมากขึ้น
ถ้าใช้ร่วมกับอาซูไรท์ จะทําให้เกิดการหยั่งรู้ เพิ่มพลังจิต ช่วยให้เกิดการตระหนักในการกระทําในการคิดและความรู้สึกของตนเอง ถ้าใช้ในการทําสมาธิจะช่วยให้เข้าสู่สมาธิได้เร็วยิ่งขึ้น เสริมความสามารถแข็งแกร่ง และความมั่นใจในตนเอง
และยังเชื่อกันว่า มาลาไคท์ (Malachite) สามารถดูดพิษของพลูโตเนี่ยมป้องกันการแผ่กัมมันตภาพรังสี รักษาโรคหืดหอบ ข้อต่ออักเสบ อาการ บวมนํ้าบริเวณข้อต่อ เนื้องอก ปวดหัว ไมเกรน เรียงโครงสร้างของ ดีเอ็นเอในตําแหน่งที่ถูกต้องได้
แนะนำว่าเราควรสวมมาลาไคท์ไว้ที่มือซ้าย หรือวางมาลาไคท์ที่หน้าผากเมื่อจะใช้ในการบำบัดรักษาโรค ถ้านําเป็นจี้ห้อยคอและให้เด็กจะช่วยป้องกันเด็กให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ วิญญาณชั่วร้าย และอุบัติเหตุร้ายแรงต่าง ๆ
โดยเชื่อว่าหินมาลาไคท์จะช่วยขจัดสิ่งร้าย ๆ รอบตัว ปกป้องจากภยันตราย และยังใช้เป็นเครื่องราง ฝันร้าย และอันตราย จากการเดินทาง
ในอารยธรรมบางแห่งใช้มาลาไคท์ (Malachite) ในการช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และค้นพบตัวเองว่ามีความสามารถพิเศษอะไรที่ซ้อนเร้นอยู่ ช่วยให้แสดงศักยภาพที่แท้จริงของผู้สวมใส่มัน
ถ้านํามาลาไคท์ใส่ในลิ้นชักเก็บเงิน จะช่วยทําให้ธุรกิจทําดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด และประสบความสําเร็จ นอกจากนั้นมาลาไคท์มีขึ้นชื่อในการป้องกันการถูกทําร้ายทางจิตด้วยเวทมนต์คาถา หรือคําสาปแช่งต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป
หินมาลาไคท์ เป็นหินประจำวันพุธ
เป็นหินที่เด่นเรื่องการเจรจาต่อรอง ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ทางด้านความเชื่อหินมาลาไคท์ (Malachite) มีความหมายในด้านการเตือนภัยอุบัติเหตุที่จะเกิดค่อนข้างสูง เป็นการเตือนภัยล่วงหน้า หินจะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองต้านพลังร้าย จนบางครั้งทำให้หินแตกมีรอยร้าวเกิดขึ้นได้
แหล่งค้นพบ
แหล่งที่ค้นพบมาลาไคท์ (Malachite) ที่สำคัญ ๆ มีอยู่หลายแห่ง เช่น แซร์ ซิมบับเว นามิเบีย ซิลี โรดีเซีย อาฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพและปริมาณการผลิตแล้ว ต้องถือว่าแซร์เป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดในโลก
แหล่งในประเทศไทยพบที่ อ.จันทึก จ.นครราชสีมา, อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ และทั่ว ๆ ไปในแหล่งแร่ทองแดงของประเทศ
คุณประโยชน์
ในอดีตพบว่า เทือกเขาอูราลในประเทศรัสเซีย เคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งมาลาไคท์ (Malachite) ที่สำคัญที่สุด เพราะว่าพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียแต่ละพระองค์ ต่างก็ทรงนำมาลาไคท์จำนวนมากมายมหาศาล มาตบแต่งปราสาทราชวังของพระองค์เอง หรือไม่ก็นำมาประดิษฐ์ออกแบบเป็นวัสดุตกแต่งส่วนต่างในพระราชวัง ซึ่งสวยงาม และปราณีตอย่างยิ่ง
แม้ว่ามาลาไคท์จะไม่ค่อยแข็งซักเท่าไหร่ (3.5 – 4 ตามโมห์สเกล) อีกทั้งยังไวต่อกรด และความร้อนอีก แต่มันก็ยังคงมีเสน่ห์ และยังคงเป็นที่นิยมอยู่ดี ไม่ว่าจะนำมาทำเป็น เครื่องประดับ และศิลป์วัตถุ ถ้าเป็นเครื่องประดับ ก็มักจะเจียระไนเป็นลักษณะหลังเบี้ย หรือลักษณะเม็ดประคำ รูปสลักต่าง ๆ ตลับใส่ของ หรือกล่องต่าง ๆ
มาลาไคท์ (Malachite) ที่เป็นศิลป์วัตถุราคาจะค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องประดับประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะมาลาไคท์ (Malachite) ที่มีลวดลายแปลกตาของมัน ยิ่งผ่านฝีมือช่างที่ปราณีตจะยิ่งมีราคาสูงมาก ๆ ช่างเจียระไนที่ชำนาญจะคำนึงถึงว่าจะเจียระไนอย่างไรดีให้ลวดลายของมาลาไคท์ (Malachite) ออกมาสวยงาม และแปลกตาที่สุด ลวดลายที่เป็นวงซ้อนกันถือว่าเป็นเสน่ห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของมาลาไคท์
ขอให้การเจรจาค้าขายสำเร็จของท่านทุกประการ
———————————————
ผู้คิดค้น วิชาหินเดินดาว Modern Astral Crystals ศาสตร์พยากรณ์ 12 พลังหิน
สนใจตรวจดวงชะตา หรือเรียนกับอาจารย์ ⇒ คลิกที่นี่
Facebook: หินเดินดาว, ณิชารัศมิ์โหราศาสตร์